Saturday, August 29, 2009

ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็น

ผู้จัดทำ ได้ศึกษางานวรรณกรรมเรื่องนี้ในวิชาวรรณคดีเยอรมัน และมีความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งเพราะ สิทธารถะเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่งของ Hermann Hesse ซึ่งรับการแปลมาแล้วหลายภาษา ในด้านเนื้อหากลายเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างผู้อ่าน ในที่นี้ผู้จัดทำจึงอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวเองกับผู้อ่านท่านอื่นๆ ตามความคิดเห็นของผู้จัดทำแล้ว แก่นเรื่องที่ Hesse ต้องการนำเสนอต่อผู้อ่านคือ เราไม่สามารถบรรลุผ่านการสอนได้ แต่เราต้องเรียนรู้ด้วยตนเองเหมือนเช่นสิทธารถะ ผู้จัดทำเห็นด้วยกับประเด็นความคิดนี้ หากเราย้อนกลับไปมองตามหลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นครู และข้อหนึ่งที่ว่าอย่าเชื่อพระพุทธองค์ เพราะว่าพระพุทธองค์คือพระพุทธเจ้า ในความเป็นจริงทุกคนควรที่จะเรียนรู้อะไรด้วยตนเองก่อนจะตัดสินใจเชื่อ
อีกประเด็นที่ถูกถกถียงกันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้อ่านคือ เรื่องนี้นำเสนอความเป็นตะวันตกหรือตะวันออก ผู้จัดทำเห็นว่าเรื่องนี้ Hesse นำเสนอภาพความคิดของตัวละครเอกแบบตะวันตก โดยใช้ความเป็นตะวันออกเป็นฉากในการดำเนินเรื่องเท่านั้น แท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นงานเขียนแบบตะวันตก เห็นได้จากความคิดของสิทธารถะกล้าที่จะสงสัยในสิ่งที่คนเอเชียเห็นว่าเป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าได้พิสูจน์และตรัสรู้แล้ว สิทธารถะจึงเลือกที่จะแสวงหาแนวทางด้วยตัวเอง คณะผู้จัดทำ จึงต้องการที่จะทราบความคิดเห็นของผู้อ่านท่านอื่นๆว่า คิดเห็นอย่างไรกับประเด็นความเป็นตะวันตกหรือตะวันออก





วิเคราะห์ตัวละคร



สิทธารถะ
ตัวละครตัวนี้เป็นบุรุษที่เพียบพร้อมด้วยทรัพย์ทางปัญญาและทรัพย์สิน แต่ความเพียบพร้อมนี้ทำให้เขาไม่มีความสุขในชีวิต เขาจึงต้องการแสวงหาแนวทางหลุดพ้น โดยเลือกปฏิบัติหลายวิธี วิธีแรกเขาเลือกที่จะแสวงหาทางหลุดพ้นโดยการเป็นสมณะ แต่เขาพบว่ามันไม่ใช่หนทางที่แท้จริง จนกระทั่งพบกับพระพุทธเจ้า เขาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ เขากลับอ้างว่าการแสวงหาทางหลุดพ้นต้องค้นหาด้วยตัวเอง เขาจึงเลือกดำเนินชีวิตทางโลก สุดท้ายเขาพบหนทางที่แท้จริงโดยการเรียนรู้จากแม่น้ำ
ตัวละครสิทธารถะแม้จะมีพื้นฐานครอบครัว สภาพชีวิตที่ดี แต่เขายังรู้สึกว่าชีวิตของเขายังไม่พบกับความสุขสงบอย่างแท้จริง ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าไม่มีใครที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบ ทุกคนล้วนตกอยู่ในห้วงทุกข์ สิทธารถะเป็นตัวแทนทางความคิดในประเด็นที่ว่า ไม่มีใครจะหลุดพ้นผ่านการสอนได้ การหลุดพ้นต้องแสวงหาด้วยตัวเอง

โควินทะ
ตัวละครตัวนี้เป็นสหายรักของสิทธารถะ เปรียบเสมือนเงาของสิทธารถะ ซึ่งเขามีความคิดคล้อยตามสิทธารถะเสมอจนกระทั่งเมื่อทั้งสองเจอกับพระพุทธเจ้า โควินทะกล้าที่จะเลือกทางของเขาเอง เขาตัดสินใจโดยไม่ลังเล ตัวละครตัวนี้เป็นตัวแทนของผู้แสวงหาทางหลุดพ้นโดยผ่านหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ความคิดของเขาเปรียบได้กับความคิดของชาวพุทธที่ยึดมั่นในศาสนา โควินทะกับสิทธารถะมีแนวทางปฏิบัติที่ต่างกันอย่างชัดเจน ตัวละครตัวนี้ดำเนินชีวิตในกรอบ ยึดถือหลักคำสอนอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา และเชื่อว่าหนทางนี้เป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต เขาเป็นผู้ตามที่ดี แต่เมื่อถึงจุดที่สำคัญของชีวิต เขาก็สามารถตัดสินใจได้อย่างไม่ลังเล

วสุเทวา
เป็นตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่งของเรื่อง เขาเปรียบเหมือนครูที่คอยชี้แนะสิทธารถะให้ค้นพบทางหลุดพ้น เขาชี้แนะให้สิทธารถะเรียนรู้จากแม่น้ำ ฟังเสียงจากแม่น้ำตัวละครตัวนี้มีผลต่อการหลุดพ้นของสิทธารถะอย่างยิ่ง ในตอนที่สิทธารถะพบกับลูก เขาก็หวนกลับไปสู่ห้วงความทุกข์อีกครั้ง แต่วสุเทวาเป็นคนที่เตือนสติให้สิทธารถะกลับมาสู่การค้นหาคำตอบอีกครั้ง ตัวละครนี้มีความเข้าใจในความหมายของชีวิตอย่างแท้จริง

กมลา
เป็นหญิงคณิกาผู้เลอโฉม เธอเป็นครูสอนความรักทางโลกให้แก่สิทธารถะ และเป็นผู้ที่แนะนำให้สิทธารถะพบกับกามะสวามี พ่อค้าผู้ร่ำรวยที่ทำให้สิทธารถะตกอยู่ในวังวนของโลกวัตถุเงินตรา กมลาเป็นเจ้าของสวนมะม่วงและมีข้าทาสบริวารเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกมลายังเป็นที่หมายปองของชายทุกคน ตัวละครตัวนี้มีอิทธิพลต่อความคิดของสิทธารถะ เพราะเธอมีความคล้ายคลึงกับสิทธารถะ เธอเป็นคนที่อ่านความคิดคนออก และเข้าใจตัวตนของสิทธารถะเป็นอย่างดี ดังเช่นในตอนที่สิทธารถะจากเมืองไป กมลาก็มิได้โวยวายหรือแสดงอาการตกใจแต่อย่างใด เธออยู่ในอาการสงบไม่ยินดียินร้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กมลาเป็นตัวละครที่สำคัญซึ่งทำให้วิถีชีวิตของสิทธารถะเปลี่ยนไป ชี้นำให้เขาเห็นโลกอีกด้านที่ไม่เคยรู้จัก หากขาดตัวละครนี้ไปก็จะไม่มีสีสัน

ลูกชาย
ตัวละครนี้ทำให้ชีวิตของสิทธารถะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ขณะนั้นสิทธารถะได้เรียนรู้จากแม่น้ำ เขาเริ่มสงบลง แต่เมื่อพบกับบุตรชาย ทำให้สิทธารถะเป็นทุกข์มากขึ้น
ลูกชายเป็นตัวละครที่มีนิสัยเอาแต่ใจตัวเองรักความสะดวกสบาย ชอบวิถีชีวิตในเมือง ก้าวร้าว เขาไม่มีความคุ้นเคยกับผู้เป็นพ่อมาก่อน เขาจึงแสดงความเกรี้ยวกราด ไม่ช่วยทำงาน เกียจคร้าน ไม่ชอบวิถีชีวิตเหหมือนพ่อ เข้าจึงหนีกลับเข้าเมืองในที่สุด ตัวละครนี้เปรียบเสมือนภาพสะท้อนสิ่งที่เขาเคยกระทำกับพ่อของเขาเมื่อครั้งอดีต ที่พ่อของเขาก็เป็นทุกข์ที่เขาจากบ้านไปเช่นกัน ลูกชายเป็นบททดสอบครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะค้นพบหนทางหลุดพ้น

เนื้อเรื่องย่อ





สิทธารถะเป็นบุตรแห่งพราหมณ์ เขามีเพื่อนรักคนหนึ่งคือ โควินทะ พวกเขาต้องการแสวงหาทางหลุดพ้นในชีวิตจึงตัดสินใจบวชเป็นสมณะ ซึ่งมีวิถีปฏิบัติแตกต่างจากผู้คนทั่วไป เช่น ในหนึ่งวันพวกเขากินข้าวเพียงหนึ่งมื้อเท่านั้น พวกเขายึดถือตามหลักปฏิบัติของเหล่าสมณะหากแต่หนทางนี้ไม่สามารถให้คำตอบแก่พวกเขาได้ เขาจึงแสวงหาวิถีทางใหม่ที่จะให้คำตอบแก่พวกเขา จนกระทั่งพวกเขาได้พบกับพระพุทธองค์ ได้ฟังหลักธรรมอริยสัจ 4 ทำให้โควินทะและสิทธารถะเลื่อมใสศรัทธาในหลักคำสอน หากแต่สิทธารถะต้องการแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ด้วยตัวเอง ซึ่งเขาเชื่อว่าการสอนไม่สามารถนำพาผู้คนไปสู่หนทางดับทุกข์ได้ ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจใช้ชีวิตในเมืองเพื่อแสวงหาแนวทางด้วยตัวเอง สิทธารถะได้เจอกับนางกมลา เธอเป็นหญิงงามเมืองซึ่งกลายมาเป็นครูของสิทธารถะสอนเรื่องราวความรักของปุถุชนทั่วไป อีกทั้งเขาได้รู้จักกับกามะสวามีพ่อค้าผู้มั่งคั่ง สิทธารถะได้เรียนรู้วิธีการค้าขายจากเขา สภาพแวดล้อมนี้ส่งผลให้เขาเหมือนเช่นคนอื่นๆในสังคมเขาตกอยู่ในวัฏสงสาร ความอดทน อดกลั้น ความคิดสิ่งเหล่านี้ได้เลือนหายไปจากตัวของสิทธารถะแล้ว เขารู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เมื่อคิดได้ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจออกจากเมืองเข้าป่า จนกระทั่งถึงริมแม่น้ำแห่งหนึ่งเขาตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่และที่นี้เองที่ทำให้เขาได้พบกับวสุเทวาชายแจวเรือ เขาสอนให้สิทธารถะเรียนรู้จากแม่น้ำ ริมแม่น้ำแห่งนี้ทำให้เขาได้พบกับได้พบกมาลาอีกครั้งพร้อมบุตรชายของเขา เนื่องจากนางและบุตรต้องการไปหาพระพุทธเจ้าที่ใกล้ปรินิพพาน แต่นางกมาลาได้สิ้นใจลง เพราะถูกงูกัด ทำให้สิทธารถะเศร้าใจแต่ความทุกข์ของเขาบรรเทาลงเพราะบุตรชายของเขามาแทนที่ความทุกข์นั้น บุตรของเขาเคยมีชีวิตที่สุขสบายดังนั้นเขาจึงปฏิเสธวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบนี้ แต่สิทธารถะหวังว่าสักวันความเมตตาของเขาจะชนะใจบุตร สุดท้ายบุตรของเขาหนีจากเขากลับเข้าเมือง สิทธารถะปล่อยให้บุตรของเขามีวิถีทางเป็นของตัวเอง เขาหันกลับมาเรียนรู้ค้นหาคำตอบจากแม่น้ำจนค้นพบความหมายที่แท้จริงของชีวิต
ในบทสนทนาระหว่างสิทธารถะกับโควินทะ สิทธารถะได้อธิบายถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้และบอกกับโควินทะว่า เขาได้บรรลุแล้วและอธิบายถึงความจริงที่นั้น วรรณกรรมเรื่อนี้จบลงด้วยฉากที่สิทธารถะได้พบกับโควินทะอีกครั้ง และอธิบายว่าการตรัสรู้ไม่สามารถสอนได้ เขาชี้แนะและจูบที่หน้าผากของโควินทะ นั่นทำให้โควินทะบรรลุได้ในที่สุด

ประวัติแฮร์มันน์ เฮสเส (Hermann Hesse)



แฮร์มันน์ เฮสเส (Hermann Hesse) นักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมัน ผู้เชื่อมโลกตะวันตกเข้ากับโลกตะวันออก เกิดที่เมืองคาล์ว ในแคว้นวืทเทมเบิร์ก (Wurttemberg) ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2420 เป็นบุตรของมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ ตอนแรกเขาตั้งใจจะเดินตามรอยบิดา โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนศาสนา แต่เรียนได้แค่เพียงสองปีก็ต้องลาออก เพราะทนสภาพในโรงเรียนไม่ได้ และเพราะ “ต้องการเป็นนักเขียน ไม่ก็ไม่เป็นอะไรเลย” เขาเริ่มมีปัญหาทางสุขภาพจิต เคยพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาฟื้นฟูอยู่หลายปี ระหว่างนั้นก็ไปเรียนเป็นเด็กฝึกงานอยู่ในโรงงานทำนาฬิกา ก่อนจะไปฝึกงานทำหนังสือที่ร้านหนังสือในเมืองตือบิงเง่น (Tubingen) และได้ทำงานในร้านหนังสือ เฮ็คเคนฮาวเออร์ (Heckenhauer) เขาใช้เวลาว่างในช่วงนี้ศึกษาวรรณกรรม และเริ่มเขียนนิยายในปี 2442 อีกสองปีต่อมาเดินทางไปอิตาลีและเริ่มเขียนบทกวีชื่อ Hermann Lauscher ในปี 2447 นิยายเรื่องแรกได้รับการตีพิมพ์คือ "ปีเตอร์ คาร์เมนซิน” (Peter Carmenzind) ซึ่งสร้างชื่อให้เขา จากนั้นจึงออกมาเป็นนักเขียนอิสระ และเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ ในปี 2545 เขาเดินทางไปอินเดียครั้งแรก เริ่มสนใจปรัชญาตะวันออก จากนั้นก็ผลิตงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ เช่น "บทเรียน” (Beneath the Wheel), "เกอทรูด” (Gertrude), "รอสฮัลด์” (Rosshalde), "คนุลป์” (Knulp) จนกระทั่งปี 2458 พ่อของเขาเสียชีวิต ภรรยาวิกลจริตและลูกชายป่วย จนเขาต้องออกเดินทางเพื่อเยียวยาตนเอง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโรคประสาท จนได้เป็นลูกศิษย์ของ คาร์ล ยุง (Carl Gustav Jung) จากนั้นก็พิมพ์นิยายอีกหลายเรื่องเช่น "สิทธารถะ” (Siddhartha), "สเตปเปนวูล์ฟ” (Steppenwolf), "นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์” (Narcissuss and Goldmund), "ท่องตะวันออก” (Journey to the East), "เกมลูกแก้ว” (The Glass Bead Game) ฯลฯ เฮสเสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมและรางวัลเกอเธ่ในปี 2489 เฮสเสแต่งงานใหม่ครั้งที่ 3 ในปี 2474 และย้ายไปหาความสงบที่บ้านใกล้ทะเลสาบที่เมืองมอนตาโญลา สวิสเซอร์แลนด์ และอยู่ที่นั่นจนวาระสุดท้ายของชีวิต งานเขียนหลายเรื่องของเฮสเสแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลุ่มลึกต่อปรัชญา ตะวันออก ทั้งอินเดียและจีน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาจิตวิญญาณภายในของ มนุษย์ แต่ความคิดของเขาก็ได้รับอิทธิพลจากเฮเกลนักปรัชญาเยอรมันมาไม่น้อย เฮสเสเป็นนักเขียนที่ละเอียดอ่อนหยั่งลึกต่อโลกธรรมชาติ ศาสนา ปรัชญา และศิลปะ เป็นนักเขียนผู้เข้าถึงความเป็นปัจเจกของมนุษย์อย่างยากที่จะหานักเขียนคนใด เทียบเคียง แม้จะบูชาความเป็นปัจเจก ใช้ชีวิตสันโดษแยกจากสังคม แต่เขายังได้แสดงความรักที่มีต่อโลกผ่านงานเขียน งานเขียนของเขาได้รับการความนิยมเป็นอย่างสูง และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก


ที่มา: http://www.sarakadee.com