Saturday, August 29, 2009

ประวัติแฮร์มันน์ เฮสเส (Hermann Hesse)



แฮร์มันน์ เฮสเส (Hermann Hesse) นักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมัน ผู้เชื่อมโลกตะวันตกเข้ากับโลกตะวันออก เกิดที่เมืองคาล์ว ในแคว้นวืทเทมเบิร์ก (Wurttemberg) ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2420 เป็นบุตรของมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ ตอนแรกเขาตั้งใจจะเดินตามรอยบิดา โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนศาสนา แต่เรียนได้แค่เพียงสองปีก็ต้องลาออก เพราะทนสภาพในโรงเรียนไม่ได้ และเพราะ “ต้องการเป็นนักเขียน ไม่ก็ไม่เป็นอะไรเลย” เขาเริ่มมีปัญหาทางสุขภาพจิต เคยพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาฟื้นฟูอยู่หลายปี ระหว่างนั้นก็ไปเรียนเป็นเด็กฝึกงานอยู่ในโรงงานทำนาฬิกา ก่อนจะไปฝึกงานทำหนังสือที่ร้านหนังสือในเมืองตือบิงเง่น (Tubingen) และได้ทำงานในร้านหนังสือ เฮ็คเคนฮาวเออร์ (Heckenhauer) เขาใช้เวลาว่างในช่วงนี้ศึกษาวรรณกรรม และเริ่มเขียนนิยายในปี 2442 อีกสองปีต่อมาเดินทางไปอิตาลีและเริ่มเขียนบทกวีชื่อ Hermann Lauscher ในปี 2447 นิยายเรื่องแรกได้รับการตีพิมพ์คือ "ปีเตอร์ คาร์เมนซิน” (Peter Carmenzind) ซึ่งสร้างชื่อให้เขา จากนั้นจึงออกมาเป็นนักเขียนอิสระ และเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ ในปี 2545 เขาเดินทางไปอินเดียครั้งแรก เริ่มสนใจปรัชญาตะวันออก จากนั้นก็ผลิตงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ เช่น "บทเรียน” (Beneath the Wheel), "เกอทรูด” (Gertrude), "รอสฮัลด์” (Rosshalde), "คนุลป์” (Knulp) จนกระทั่งปี 2458 พ่อของเขาเสียชีวิต ภรรยาวิกลจริตและลูกชายป่วย จนเขาต้องออกเดินทางเพื่อเยียวยาตนเอง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโรคประสาท จนได้เป็นลูกศิษย์ของ คาร์ล ยุง (Carl Gustav Jung) จากนั้นก็พิมพ์นิยายอีกหลายเรื่องเช่น "สิทธารถะ” (Siddhartha), "สเตปเปนวูล์ฟ” (Steppenwolf), "นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์” (Narcissuss and Goldmund), "ท่องตะวันออก” (Journey to the East), "เกมลูกแก้ว” (The Glass Bead Game) ฯลฯ เฮสเสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมและรางวัลเกอเธ่ในปี 2489 เฮสเสแต่งงานใหม่ครั้งที่ 3 ในปี 2474 และย้ายไปหาความสงบที่บ้านใกล้ทะเลสาบที่เมืองมอนตาโญลา สวิสเซอร์แลนด์ และอยู่ที่นั่นจนวาระสุดท้ายของชีวิต งานเขียนหลายเรื่องของเฮสเสแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลุ่มลึกต่อปรัชญา ตะวันออก ทั้งอินเดียและจีน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาจิตวิญญาณภายในของ มนุษย์ แต่ความคิดของเขาก็ได้รับอิทธิพลจากเฮเกลนักปรัชญาเยอรมันมาไม่น้อย เฮสเสเป็นนักเขียนที่ละเอียดอ่อนหยั่งลึกต่อโลกธรรมชาติ ศาสนา ปรัชญา และศิลปะ เป็นนักเขียนผู้เข้าถึงความเป็นปัจเจกของมนุษย์อย่างยากที่จะหานักเขียนคนใด เทียบเคียง แม้จะบูชาความเป็นปัจเจก ใช้ชีวิตสันโดษแยกจากสังคม แต่เขายังได้แสดงความรักที่มีต่อโลกผ่านงานเขียน งานเขียนของเขาได้รับการความนิยมเป็นอย่างสูง และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก


ที่มา: http://www.sarakadee.com

No comments:

Post a Comment